นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยนับแต่ปี 2561 ว่า คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ในอัตรา 5.3-10.3% โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ในช่วง 1.07-1.12  ล้านล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่สัดส่วนการส่งออก 30% รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น 14% สหรัฐฯ 10% จีนและแอฟริกามีสัดส่วนเท่ากัน 9% ตามลำดับ

นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยนับแต่ปี 2561 เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีการส่งออกในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่  1) รูปแบบสินค้าเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีแนวโน้มพึ่งพิงรายได้จากสินค้าหลักลดลง (สินค้าหลัก 8 รายการ ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานปรุงแต่ง) โดยจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น อาหารอนาคต หรือFuture Food เพราะการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตสูงแม้ว่าในเชิงมูลค่ายังไม่มากก็ตาม อาทิ อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) เป็นต้น

2) ตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจภายในภูมิภาค เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทิศทางการค้าอาหารของไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภายหลังจากการที่ไทยมีความตกลงการค้าที่สำคัญภายในภูมิภาค เช่น FTA อาเซียน-จีน  ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และประชาคมอาเซียน (ASEAN Commodity: AC) ซึ่งพบว่า สินค้าอาหารของไทยลดการพึ่งพิงตลาดเดิมลง เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป  และมีการกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดภายในภูมิภาคที่มีความตกลงทางการค้า ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่นและจีน

อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/iq03/2775234