img

“พาณิชย์”ยืนเป้าส่งออกปี 62 โต 8% ไว้เป็นเป้าทำงาน หลังมีแผนปั๊มส่งออกทั้งรายตลาด และรายสินค้า ส่วนเอกชนมองสวนทาง คาดโตแค่ 3% แต่ถ้ารัฐช่วยอัดฉีดอาจขยับเป็นโต 5% ได้ วอนช่วยดูแลเงินบาท เหตุแข็งค่าหนักจนกระทบต่อรายได้และการแข่งขัน แถมยังมีแนวโน้มปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ แนะชะลอออกไปก่อน หวั่นยิ่งทำต้นทุนเพิ่ม

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และตัวแทนภาคเอกชนรายอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562 ว่า กรมฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ที่ตั้งไว้ที่ 8% ไว้เป็นเป้าในการทำงาน แม้ว่าการส่งออกในเดือนม.ค.2562 จะติดลบ 5.65% เนื่องจากการส่งออกในไตรมาสแรกของทุกปีมีแนวโน้มชะลอตัว แต่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2 เป็นต้นไป และกรมฯ มีกิจกรรมผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาด ทั้งจีน อินเดีย แอฟริกา และการส่งออกเจาะเป็นรายกลุ่มสินค้า ที่คาดว่าจะช่วยผลักดันการส่งออกไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

“ในที่ประชุมเอกชนมองตัวเลขการส่งออกปี 2562 จะเติบโตประมาณ 3% แต่ถ้าจะให้เติบโตได้มากกว่านี้ ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะร่วมทำงานขับเคลื่อนการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน ทั้งการผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาด และรายสินค้า”น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนประเมินการส่งออกปี 2562 ไว้ที่ 3% มูลค่าประมาณ 2.59 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าได้รับการสนับสนุบจากภาครัฐในเรื่องการส่งเสริมการตลาดและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก ก็อาจจะโตได้ 5% ส่วนปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อภาคการส่งออกในปี 2562 อย่างหนัก คือ เงินบาทแข็งค่า ซึ่งภาคเอกชนมองว่าเงินบาทไม่ควรต่ำกว่า 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากแข็งค่ากว่านี้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก

“การเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลอื่นในการส่งออก ทำได้ยาก เพราะมีความเสี่ยงสูง ส่วนการทำประกันความเสี่ยง ก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะค่าเงินผันผวนหนักมาก จึงต้องการส่งสัญญาณไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากค่าเงินบาทขณะนี้ส่งผลกระทบมาก เพราะการขายเงินเหรียญสหรัฐและทอนกลับมาเป็นเงินบาท ทำให้กำไรลดลง บางกลุ่มถึงกลับขาดทุน”นายสนั่นกล่าว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเป็นห่วงเรื่องการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในปีนี้ เพราะจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต โดยจากการสอบถามสมาชิกภาคเอกชน 40 จังหวัด เสนอความเห็นว่าไม่ต้องการให้ขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และมองว่าแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นแรงงานต่างด้าวถึง 6-7 ล้านคน จึงจะเสนอไปยังรัฐบาลให้คงอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำในปีนี้ไว้เช่นเดิม และควรมีการหารือทุกฝ่ายเพื่อให้เตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปี ก่อนสรุปผลการขึ้นค่าแรงงานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนผลกระทบของสงครามการค้า มีสัญญาณดีที่สหรัฐฯ เลื่อนการใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้ากับจีนไว้ก่อน เพื่อเจรจากันต่อ ซึ่งยังต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนต้องการให้รัฐผลักดันการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) เช่น เอฟทีเอไทย-อียู การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อให้ไทยไม่ตกขบวนทางการค้า

ด้านคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ในมุมมองภาคเอกชน ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะเติบโต 2.7% มูลค่า 2.59 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่า 4.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โต 1.1% เช่น กลุ่มอาหาร โต 4% ส่วนข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม่โต น้ำตาล ติดลบ 10% สินค้าอุตสากรรม มีมูลค่า 2.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โต 2.9% เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก โตประมาณ 3% สิ่งทอ โต 5% เป็นต้น

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit

ที่มา…https://www.commercenewsagency.com/news/1896