นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น 50.44% จากช่วงเดียวกันของปี 60 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 30.61% และดัชนีราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 15.18% ส่งผลให้รายได้ของผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้น 61.55% ส่วนรายได้ผู้ปลูกข้าวเจ้า เพิ่มขึ้น 35.35% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาเป็นระยะๆ และความพยายามบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ได้ทั้งระบบ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านราคา

สำหรับราคาข้าวที่ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.61 สูงขึ้นมาก โดยข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยตันละ 13,529 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยตันละ 9,207 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 7,785 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยตันละ 7,514 บาท “ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิสูงขึ้น เป็นผลจากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปี 60/61 ประกอบกับบางพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังต้องการข้าวหอมมะลิต่อเนื่อง”

ด้านนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7-9 พ.ค.61 ได้นำสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางไปเยือนหน่วยงานจัดซื้อข้าวแห่งชาติของมาเลเซีย (เบอร์นาส) และองค์กรสำรองอาหารแห่งอินโดนีเซีย (บูล็อค) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าว และหาโอกาสขยายการส่งออกข้าวไทยทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)และรัฐบาลต่อเอกชน (จีทูพี) “การเดินทางไปครั้งนี้ทำให้ทราบว่าทั้ง 2 ประเทศ ยังต้องการซื้อ ข้าว คาดว่าในปีนี้จะนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งสัญญาณเชิงบวกต่อข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด และรักษาระดับราคาข้าวไทยให้มีเสถียรภาพในระยะยาว”.