กรมศุลกากรฮ่องกงจ่อเชือด หลังเจอแหล่งผลิต 2.2 หมื่นกิโล
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศุลกากรฮ่องกงได้จับกุมแหล่งปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยจำนวน 22,600 กิโลกรัม (กก.) คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17.8 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 73 ล้านบาท ถือเป็นการจับกุมแหล่งบรรจุข้าวปลอมปนครั้งใหญ่สุดในรอบ 4 ปี หลังจากที่ข้าวหอมมะลิไทยมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย.60 โดยคาดว่าข้าวปลอมดังกล่าวสามารถทำกำไรมากกว่า 100 เหรียญฮ่องกงต่อถุง 25 กก.
สำหรับการจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ศุลกากรฮ่องกงได้เข้ากวาดล้างแหล่งบรรจุข้าว ปลอมปนในเขต Sun Po Kong ย่านเกาลูน พบเครื่องบรรจุข้าว 2 เครื่อง ข้าวสารจากเวียดนามและกัมพูชา 15,000 กก. ข้าวเจ้า 6,000 กก. และข้าวหอมมะลิ 1,600 กก. รอการผสมและบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปลอมที่ทำเลียนแบบขึ้นมา และบรรจุภัณฑ์เก่าที่นำกลับมาใช้ใหม่รวมกว่า 7,000 ถุง โดยมีแบรนด์บรรจุภัณฑ์ของไทยที่ได้รับความเสียหายได้แก่ Golden Phoenix, Qing Ling Zhi, Golden Vital King และ Kim Kia Ta Thai Rice ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสำหรับตลาดข้าวในกลุ่มร้านอาหารของฮ่องกง
ทั้งนี้ การเข้าจับกุมครั้งนี้ได้ผู้ต้องสงสัยเป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน ซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพว่า โรงงานดังกล่าวเปิดมา 3 เดือน เพื่อบรรจุข้าวใส่ถุงแบรนด์ต่างๆ จำหน่าย โดยใช้ข้าวชนิดต่างๆ 90% และข้าวหอมมะลิ 10% มาผสมกันแล้วนำมาหลอกขายเป็นข้าวหอมมะลิให้แก่ร้านอาหารในฮ่องกงมากกว่า 100 แห่ง ทำให้ต้นทุนถูกกว่าข้าวหอมมะลิปกติ 50% ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าข้าวปลอม ดังกล่าวสามารถทำกำไรต่อถุง 25 กก. ได้มากกว่า 100 เหรียญฮ่องกง อย่างไรก็ตาม สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ฮ่องกง แจ้งว่าสาเหตุที่มีการปลอมปนข้าวไทยในช่วงนี้ เพราะปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยลดลงขณะที่ความต้องการ มีมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นมาราคาพุ่งสูงขึ้นจนเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กลุ่มพ่อค้าฉวยโอกาสทำข้าวหอมมะลิปลอมออกขาย ซึ่ง สคต.ฮ่องกง เตรียมเร่งจัดประชาสัมพันธ์ร่วมกับผู้นำเข้าข้าวไทยที่เสียหาย เพื่อแนะนำคุณลักษณะของข้าวหอมมะลิแท้จากไทย
นายชนินทร์ ชลิศราพงษ์ นายกสมาคม อุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออก อุตสาหกรรมประมงปีนี้ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 98,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อนที่เติบโต 8% หรือมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 85,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงประกอบกับสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดใหม่ที่ไม่ใช่ยุโรปเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะตลาดละตินอเมริกาที่มีความต้องการสินค้าประมงจำนวนมาก อาทิ ปาปัวนิวกินี ชิลี เป็นต้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลคือเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของไทย.