ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปริมาณการส่งออกมีจำนวนและมูลค่าลดลง เนื่องจากกลุ่มคู่แข่ง โดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ซินเจนทา บริษัทผู้นำด้านธุรกิจการเกษตรระดับโลก มุ่งมั่นจัดงานนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีข้าว หรือ Rice Expo ขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 เพื่อพัฒนาความรู้และเสริมทักษะด้านการเพาะปลูก เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมให้แก่กลุ่มเกษตรกร “ชาวนา” ของไทย ให้สามารถผลิตและพัฒนาข้าวไทยให้ดีและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา เปิดเผยว่า “การนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตข้าวเป็นหัวใจหลักสำคัญตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตชาวนาไทย เช่นเดียวกับ ซินเจนทา ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการอารักขาพืช เพื่อปรับปรุงวิธีการเจริญเติบโตและปกป้องพืช ช่วยเกษตรกรให้มีจำนวนผลผลิตและคุณภาพของพืชมากขึ้น โดยใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ และเชื่อถือได้ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพการป้องกันพืช ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกระยะยาว”

เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ซินเจนทา มีความเข้าใจชาวนาไทยเป็นอย่างดี และได้ร่วมพัฒนาระบบและกระบวนการเพาะปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดงานนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีข้าว หรือ Rice Expo เป็นครั้งที่ 4 ณ สถานีทดลองของซินเจนทา จังหวัดสุพรรณบุรี โดยในปีนี้ ได้รวบรวม 8 เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตข้าวมาแนะนำให้แก่กลุ่มเกษตรกร ตลอดการจัดงานมี ชาวนา เข้าร่วมกิจกรรมสูงถึง 2,000 ราย

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจ อาทิ 1) ระบบการจัดการนาข้าวอัจฉริยะของซินเจนทา ด้วยการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบและใช้เทคโนโลยีแต่ละช่วงการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม 2) การใช้เทคโนโลยีอารักขาพืชด้วยระบบโดรน นำระบบโดรนเข้ามาใช้ในการฉีดพ่น ช่วยลดเวลา ลดแรงงาน ลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดค่าใช้จ่าย 3) การใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการศัตรูพืช อาทิ วัชพืช โรคพืช และแมลง 4) สาธิตการใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และปัจจัยทางการเกษตร

การจัดงานดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของแผนรณรงค์ระดับโลกของกลุ่มบริษัทซินเจนทา ที่เรียกว่า Good Growth Plan หรือ แผนการเติบโตเชิงบวก ซึ่งดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น และทรัพยากรธรรมชาติที่เริ่มขาดแคลน ผ่าน 6 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) แผนเพิ่มศักยภาพการผลิต 2) แผนรักษาพื้นที่เพาะปลูกให้คงสภาพดี 3) แผนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ 4) แผนเพิ่มศักยภาพผู้เพาะปลูกรายย่อย 5) แผนพัฒนาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และ 6) แผนดูแลสวัสดิภาพแรงงานเกษตรทุกคน

“สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนพัฒนาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในการพัฒนาทักษะและฝึกอบรมด้านการปฏิบัติและใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือในการเกษตรอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า เกษตรกร จะไม่ได้รับผลกระทบในระยะยาว ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทีมงานซินเจนทา ได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ อบรม และสาธิตให้แก่เกษตรกรไทยและทั่วโลกแล้วกว่า 25.5 ล้านราย ในขณะที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 20 ล้านราย แต่ซินเจนทา ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานต่อไปแม้บรรลุเป้าหมายแล้ว ซึ่งคาดว่าเมื่อครบกำหนดในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) จะมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการนี้ถึง 30 ล้านรายทั่วโลก” คุณธนัษกล่าวสรุป