กรมการค้าต่างประเทศคลอดแนวทางปฏิบัติการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจี กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขชัดเจน ผู้ซื้อต้องเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลกลางรับรอง มีหลักฐานการชำระเงินจากต่างประเทศ และข้าวต้องมีการส่งออกไปจริง มั่นใจสร้างความโปร่งใส ป้องกันปัญหาการทุจริต ไม่มีซ้ำรอยเหมือนในอดีต

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และได้มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยครม.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ และยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ซึ่งกรมฯ ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)สำหรับข้าราชการประจำใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ได้กำหนดหลักการสำคัญในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีไว้ 3 ประการ คือ 1.การเจรจาและทำสัญญา คู่สัญญาต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลางของประเทศผู้ซื้อ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงการต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง

2.การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเปิด Letter of Credit (L/C) เพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ต้องตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว

3.การส่งมอบข้าว ต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง โดยมีหลักฐานที่สำคัญ คือ ใบอนุญาตส่งออกข้าวที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ที่ระบุว่าเป็นการส่งออกข้าวรัฐบาล

ส่วนในกรณีที่ให้กรมฯ ทำการเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีทั้งฉบับ กรมฯ ได้ยืนยันว่าสามารถเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดในสัญญาและไม่กระทบต่อตลาดและความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ เพราะหากเปิดเผยหมด จะทำให้คู่แข่งทราบข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของไทย และจะนำไปใช้ประโยชน์จนอาจกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในอนาคตได้

“ในยุคปัจจุบัน เราทำตามแนวทางที่กำหนดนี้มาโดยตลอด ทำมาก่อนที่จะมีแนวทางนี้ออกมา และเชื่อมั่นว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นหลักในการทำงานและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการของกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี และจะทำให้การซื้อขายข้าวจีทูจีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น”นายอดุลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำสัญญาขายข้าวจีทูจีในอดีต ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติ และได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่าไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติอย่างไร เช่น คู่สัญญาไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลาง การจ่ายเงินใช้แคชเชียร์เช็กในประเทศ ไม่มีหลักฐานการชำระเงินจากต่างประเทศเข้ามา และการส่งออก ก็ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีการส่งออกข้าวออกจากไทย เพราะตามปกติการส่งออกข้าวจีทูจี จะมีหลักฐานจากกรมศุลกากรที่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นข้าวที่ส่งออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ

ที่มา … https://www.commercenewsagency.com/news/1834
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit