“ผู้ประกอบการ พ่อค้าข้าวมักจะบ่นกันว่า ข้าวหอมมะลิของบ้านเราไม่เหมือนเดิม กลิ่นหอมน้อยลง ตั้งแต่ปี 2554 กรมการข้าวจึงได้เริ่มเก็บข้อมูลในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากอะไรกันแน่”

ดร.วราพงษ์ ชมาฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ กรมการข้าว บอกว่า การค้นหาสาเหตุครั้งแรกมุ่งไปที่ความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่กรมการข้าววิจัยคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ แล้วนำไปปลูกในศูนย์วิจัยข้าว 8 แห่ง นำมาเปรียบเทียบตั้งแต่ทรงต้น ใบ สี ดอก และอื่นๆ อีก 54 ลักษณะแต่พบว่า เรื่องของกลิ่นหอม ไม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่คัดไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2502…แสดงว่าแหล่งพันธุ์ยังคงเดิม มีความบริสุทธิ์ เหมือนในอดีต

จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิจากแปลงนาข้าวอินทรีย์ แปลงข้าว GAP และแปลงนาทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด และในพื้นที่ 3 จังหวัดของภาคเหนือ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยาเก็บตัวอย่างข้าวที่เก็บเกี่ยวในระยะพลับพลึง (หลังจากข้าวออกดอก 25-30 วัน) ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวมีกลิ่นหอมมากที่สุด มาเปรียบเทียบกับข้าวที่เก็บเกี่ยวในระยะทั่วไปที่ชาวนามักจะเก็บเกี่ยวกันและเก็บเกี่ยวข้าวจาก 2 ฤดู หรือ 2 ปี มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันอีกด้วย

“ผลปรากฏว่า ตัวอย่างข้าว เปลือกที่เก็บในปีแรก ปีนั้นอุณหภูมิ สภาพอากาศเย็น ไม่มีน้ำขังในแปลง นา ข้าวจะมีกลิ่นหอมมากกว่าข้าวที่เกี่ยวในปีถัดมาซึ่งมีสภาพอากาศร้อนกว่า และมีฝนตกปลายฤดู”

ได้ข้อสรุป ถ้าปลายฤดูทำนาปีสภาพอากาศเย็นจะส่งผลให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากกว่าปีที่มีสภาพอากาศร้อน…ข้าวหอมมะลิ ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีกลิ่นหอมมากกว่าปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะคุณภาพดินแตกต่างกันในเรื่องปริมาณธาตุอาหารรองพันธุ์ข้าวคงเดิม ธรรมชาติมีส่วนเติมและจางหอม…พฤติกรรมการทำนา การเก็บเกี่ยวการ แปรรูป มีส่วนทำให้กลิ่นลดน้อยถอยลงได้หรือไม่

ทีมวิจัยกรมการข้าวจึงเก็บตัวอย่างข้าวจากแปลงนาอินทรีย์ แปลงนา GAP และแปลงข้าวทั่วไปมาตรวจสอบ พบว่า กลิ่นหอมข้าวไม่ว่ามาจากนาแบบไหน ล้วนอยู่ที่ในระดับ 4 ppmในขณะที่ตัวอย่างข้าว เก็บ ณ โรงสี กลิ่นหอม ลดเหลือ 2 ppm

สาเหตุที่ความหอมข้าวลดลง ดร.วราพงษ์ สรุปให้ฟัง…มาจากการจัดการหลังเก็บเกี่ยวด้วยปัจจุบันการเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่จะใช้รถเกี่ยวข้าว จ้างรถมาหนเดียว เกี่ยวกันทั้งหมู่บ้าน ข้าวแต่ละแปลงสุกไม่พร้อมกัน แต่ต้องเกี่ยวหมด โรงสีที่ปล่อยเกี๊ยว (สินเชื่อ) ให้ชาวนานำข้าวไปตากในลานโรงสี ทำให้ข้าวที่สุกไม่พร้อมกัน ความหอมไม่ถึง ปนรวมไปกับข้าวหอม…เลยมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยความหอมลดลงปัญหาจึงลงเอยในแบบต่อให้ชาวนาดูแลปลูกข้าวดีแค่ไหน ปัญหาข้าวไทยกลิ่นไม่หอมก็ยังคงมีอยู่ร่ำไป.

เพ็ญพิชญา เตียว

ขอบคุณที่มาจาก….https://www.thairath.co.th/content/803247