“พาณิชย์” มั่นใจ! ส่งออกข้าวทะลุ 11 ล้านตัน เหตุราคาพุ่งต่อเนื่อง
“พาณิชย์” ชี้! เป็นปีทองของชาวนาไทย เหตุราคาข้าวสูงต่อเนื่อง ตลาดส่งออกมีคำสั่งซื้อติดต่อกัน มั่นใจส่งออกทะลุ 11 ล้านตัน เตรียมพร้อมรับมือผลผลผลิตข้าวช่วง พ.ย – ธ.ค. 16-18 ล้านตัน ประสานรถเกี่ยวให้เตรียมพร้อม ส่วนกระแสข่าวข้าวหอมมะลิปลอมปน เร่งประสานพาณิชย์จังหวัด-ก.มหาดไทย ลงพื้นที่สืบในทางลับ เจอจับส่งดำเนินคดีอาญาทันที
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก โดยคาดว่าจะมีผลผิตประมาณ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งในช่วง 1 เดือน กลางเดือน พ.ย. ถึงกลางเดือน ธ.ค. น่าจะมีปริมารถผลผลิต 60% หรือ 16-18 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่พีคที่สุดของปริมาณข้าวที่ออกมา สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2561 โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ยังคงมีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาทุกชนิดข้าว แม้ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปี 2561 คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตัน อย่างแน่นอน ประกอบกับสต็อกข้าวของรัฐบาลเหลือในปริมาณที่น้อยมาก ส่งผลให้ปัจจัยลบที่เป็นตัวกดราคาข้าวในประเทศหมดไป
สำหรับข้าวหอมมะลิน่าจะมีปริมาณ 5 ล้านตัน จากภาพรวมทั้งหมด 7 ล้านตัน พบว่า ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ เกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ในบางพื้นที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดการณ์ว่าจะเสียหายมากกว่า 20% โดยราคาข้าวความชื้น 15% ณ วันที่ 1 พ.ย. 2561 ข้าวเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7,300-7,800 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 7,500-7,900 บาท/ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่า ราคาจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้แล้ว ในส่วนข้าวหอมมะลิราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 11,550-14,550 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 14,450-17,500 บาท/ตัน ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่และจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกสำคัญ
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพด้านการตลาด โดยการดึงอุปทานออกสู่ตลาด 3 โครงการ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จากปริมาณข้าวที่ออกมาในช่วงนี้ อาจส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ประสบปัญหารถเกี่ยวนวดข้าวไม่เพียงพอและค่าบริการรถเกี่ยวมีราคาสูง ส่งผลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวไม่ทัน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหารถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอและลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร กรมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในปีการผลิต 2561/62 นี้ โดยชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทยจะคิดค่าบริการรถเกี่ยวแก่เกษตรกรในอัตราเพียง 450-500 บาท/ไร่ เท่านั้น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อำนวยความสะดวกในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวบรรทุกขนย้ายรถเกี่ยวนวดข้าว ประจำปีการผลิต 2561/62 เป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 ถึงเดือน ก.พ. 2562 รวมถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะพิจารณายกเว้นหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวนอกสถานที่ในอัตราต่ำสุด
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีขบวนการปลอมแปลงข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคอีสานนั้น กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานไปยังพาณิชย์จังหวัดและกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สืบสวนในทางลับ ซึ่งหากพบว่า มีการกระทำผิดจะดำเนินคดีอาญาในฐานฉ้อโกงและปลอมแปลง ทั้งปรับและจำคุก
ที่มา…http://www.thansettakij.com/content/341519