นิคมอุตสาหกรรมตะวันออกเดือด จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ทูตทั่วโลกแห่ลงพื้นที่ EEC “อาลีบาบา” จ่อปักหมุด Smart Digital Hub บนทำเลทองนิคม WHA เผยถูกยักษ์อีคอมเมิร์ซ 8 รายรุมจีบ “บิ๊กตู่” หอบ 8 บิ๊กโปรเจ็กต์ โรดโชว์ยุโรป นิคมเปิดใหม่ 4 พันไร่ร้อน กนอ.จ่อปิดดีล 90,000 ล้าน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของแผนการลงทุนธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบา ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership โดยอาลีบาบาเลือกใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ตั้งฐานการผลิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดกับบริษัทเจ้าของพื้นที่

แหล่งข่าวจากวงการนิคมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กลุ่มอาลีบาบาได้ข้อสรุปจะลงทุนโดยใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเม้นท์ (WHA) ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราแล้ว ซึ่งการเจรจาตกลงดังกล่าวอาลีบาบาใช้เวลาเลือกนานพอสมควร ต้องตัดสินใจบนเงื่อนไขที่ดีที่สุด และการเลือก WHA เพราะตอบโจทย์ในเรื่องโลเกชั่น ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและไม่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้ง WHA มีธุรกิจที่ทำทางด้านคลังสินค้า โลจิสติกส์ที่ทันสมัยอยู่แล้ว

โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ กลุ่มอาลีบาบาและ WHA เตรียมหารือรายละเอียดร่วมกันถึงเงื่อนไขการลงทุน เช่น WHA จะเป็นผู้สร้างอาคารคลังสินค้า และ WHA มีความเป็นมืออาชีพในการวางระบบครบวงจร ซึ่งฝ่ายอาลีบาบา อาจจะเช่าหรือซื้อคลังสินค้าจาก WHA หรืออีกทางคืออาลีบาบาจะลงทุนสร้างคลังสินค้าเองโดยจะเช่าเพียงพื้นที่เท่านั้น

ยักษ์อีคอมเมิร์ซรุมจีบ WHA

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า WHA อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลกหลายราย สำหรับพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสมาร์ทโลจิสติกส์ ซึ่งได้ทำสัญญากับกลุ่มเจดีดอทคอมไปแล้ว ในเฟสแรกซึ่งจะเป็นการเช่าอาคารเป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนี้จะมีเป็นการสร้างตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งโดยปกติจะทำสัญญาต่อเนื่องระยะยาวตั้งแต่ 10-30 ปีแล้วแต่กรณี

“นักลงทุนจากจีนที่สนใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยาน 8 ราย ได้ข้อสรุปแล้ว 6 ราย อยู่ระหว่างเจรจาอีก 2 ราย ล่าสุดมีนักลงทุนจากสิงคโปร์ซึ่งสนใจลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานด้วย มีนักลงทุนประมาณ 100 รายจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลการลงทุนใน WHA ด้วย”

แห่สนใจ WHA พุ่งเท่าตัว

นางสาวจีรพรกล่าวว่า นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ เข้ามาเยี่ยมชม WHA เพิ่มขึ้นเท่าตัว และภายใต้การแข่งขัน กลุ่ม WHA ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด 9 แห่ง ต้องกำหนดโพซิชั่นให้ตรงตามเป้าหมายของกลุ่มลูกค้า เช่น นิคมที่ใกล้ท่าเรือมาบตาพุด รองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน โรบอต และยานยนต์แห่งอนาคต

“ผลต่อรายได้จะเริ่มเห็นความชัดเจนรับรู้รายได้เกี่ยวกับการเช่า ซื้อและโอนที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีส่วนทำให้รายได้ของ WHA ในปีนี้เติบโตได้ 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผลดีจากนโยบายนี้จะเห็นภาพชัดมากกว่าในปี 2562 ซึ่งจะทำให้รายได้ของ WHA เติบโตในอัตราที่สูงกว่าปีนี้”

นิคม EEC จ่อเพิ่ม 4 พันไร่

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยผลสำรวจการใช้ที่ดินในนิคมอุตฯ ปี 2560 ขายได้ 3,300 ไร่ มูลค่าลงทุนรวม 83,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ EEC 80% แนวโน้มปี 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วางเป้าปิดการขายที่ดิน 3,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 90,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% โดยไตรมาส 1/61 สามารถปิดการขายแล้ว 800 ไร่ มูลค่าซื้อขาย 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สถิติ ณ ครึ่งปีหลัง 2560 มีที่ดินนิคมอุตฯ รวม 164,470 ไร่ ผู้ประกอบการหลายรายชะลอเปิดขายเฟสใหม่ในช่วงปี 2558-2559 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และการลดลงของนักลงทุนต่างชาติ แต่หลังจากรัฐบาลโปรโมต EEC ทำให้ปีที่แล้วมีพื้นที่นิคมอุตฯ 3,000 ไร่ที่เปิดขายใหม่ แนวโน้มปีนี้มีพื้นที่นิคมอุตฯเปิดใหม่ 4,000 ไร่ เช่น กลุ่ม WHA ที่ร่วมทุนกับไออาร์พีซี ซื้อที่ดินเพิ่ม 2,152 ไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม ทำเลห่างตัวเมือง 31 กิโลเมตร ห่างท่าเรือมาบตาพุด 45 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภา 65 กิโลเมตร

หอบ 8 โปรเจ็กต์โชว์ยุโรป

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจ้งความคืบหน้าโครงการลงทุนใน EEC ในเวที “The Eastern Economic Corridor (EEC) :Taking Off” เพื่อให้คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลประจำการในประเทศไทย 55 ประเทศรับฟังและซักถามโครงการสำคัญ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุตเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ Digital Park ที่ต้องให้ได้ผู้ชนะประมูลตามกรอบ TOR ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2561

ซึ่งแผนการลงทุนใน EEC ทุกโครงการจะถูกนำไปโรดโชว์ในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรีและคณะมีโปรแกรมเดินทางระหว่างวันที่ 20-25 มิ.ย.นี้ มีกำหนดการพบกับนักลงทุนกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรม S-curve และจะมีการลงนาม MOU ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสในโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้ยังมีแผนโรดโชว์นักลงทุนในเอเชียทั้งเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ในเวทีนิกเคอิ ฟอรั่มที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 11 มิ.ย.ด้วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะทูตแต่ละประเทศมีความกังวลถึงความไม่ต่อเนื่อง EEC เนื่องจากไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 แต่รัฐบาลยืนยันว่าแม้ไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่โครงการจะเดินไปตามแผนงาน เพราะมีกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง และการอนุมัติต่าง ๆ อาจมีความล่าช้า หากไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน จึงเป็นที่มาทำให้รัฐจะเร่งออกร่างเงื่อนไขขอบเขตการทำงาน (TOR) ของ 8 โครงการให้เสร็จทันสิ้นปีนี้

บีโอไอโชว์แพ็กเกจส่งเสริม EEC

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นักลงทุนสอบถามถึงสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ไตรมาส 1/2561 จำนวน 165,430 ล้านบาท 66 โครงการ จากเป้าการลงทุนใน EEC ปีนี้ 300,000 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, ยุโรปสนใจในอุตสาหกรรมเคมี อากาศยาน, สหรัฐสนใจอุตสาหกรรมอากาศยาน ดิจิทัล และยานยนต์, เกาหลีใต้โฟกัสอุตสาหกรรมเคมิคอลคุณสมบัติพิเศษ สมาร์ทซิตี้ และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, จีนลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมและมีแนวโน้มลงทุนมากขึ้น