“หอมมะลิไทย” เกลี้ยงตลาด ผู้ค้าแห่ซื้อข้าวเพื่อนบ้านส่งออกรักษาฐานลูกค้า
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวหอมมะลิไทยขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้นมาก เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดหมดแล้ว ล่าสุดราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นถึงตันละ 17,000-18,000 บาท และราคาส่งออกตันละ 1,100-1,200 เหรียญสหรัฐฯ ถือว่าเป็นราคาตามกลไกตลาดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไม่นับรวมราคาจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวไทยไม่มีข้าวไปส่งออกให้ผู้ซื้อต่างประเทศ จึงหันไปซื้อข้าวหอมมะลิของเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา และเวียดนาม เพื่อส่งออกแทน แต่ส่งออกภายใต้ชื่อข้าวหอมมะลิของกัมพูชา และข้าวหอมเวียดนาม ไม่ได้ใช้ชื่อข้าวหอมมะลิไทย เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ โดยซื้อข้าวหอมมะลิจากเวียดนามเฉลี่ยที่ตันละ 600 เหรียญฯ และข้าวหอมกัมพูชาตันละกว่า 700 เหรียญฯ
“ลูกค้าต่างชาติที่ไม่มีกำลังซื้อข้าวหอมมะลิไทยในราคาแพงๆ ผู้ส่งออกไทยก็ไปสรรหาข้าวหอมมะลิเพื่อนบ้านทดแทนก่อน ส่วนใหญ่พ่อค้าไทยแทบจะไม่เอากำไรในการส่งออเดอร์ เพราะต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ หากปล่อยให้ลูกค้าไปติดต่อซื้อข้าวหอมจากเพื่อนบ้านเอง ในอนาคตเกรงว่าข้าวหอมเพื่อนบ้านจะแย่งตลาดข้าวไทยได้”
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในปีนี้ข้าวเปลือกหอมมะลิไทยมีผลผลิตประมาณ 7 ล้านตัน จากปกติที่มีผลผลิต 8.5-9 ล้านตัน ส่วนหนึ่งมาจากน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนข้าวหอมมะลิเสียหาย และอีกส่วนมาจากโรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งในภาคอีสานจำนวนมากกว่า 20 แห่ง ส่งผลให้ชาวนาบางส่วนหันไปปลูกอ้อย คิดเป็นพื้นที่นาที่หายไป 1-2 ล้านไร่ โดยยอดการส่งออกข้าวหอมมะลิในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณเกือบ 3 ล้านตัน เพราะปัญหาการขาดแคลนข้าว
“เดิมทีคาดว่า ราคาข้าวหอมมะลิของไทยจะลดลงหลังเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว แต่ผิดคาด เพราะความต้องการที่มีสูงแต่สินค้ามีน้อย ยิ่งทำให้ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คงต้องรอปีหน้าที่คาดว่าราคาจะลดลง เพราะล่าสุดมีข่าวว่า ชาวนาเริ่มหันมาปลูกข้าวหอมกันมากขึ้นหลังจากปีนี้มีราคาดี”.