นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการสัมมนา “จับตาเทรนด์ความต้องการข้าวในตลาดโลก” ว่า กรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ เนื่องจากว่า ไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ดังนั้น จะต้องเข้าใจในพฤติกรรม รสนิยม ของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดข้าวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้บริโภคในตลาดใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อสูง ไม่ว่าจะเป็น ชาวมุสลิมในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางและในอาเซียน รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคข้าวประเภทพื้นนิ่ม ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดจีน ทางกรมฯ จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวเฉพาะ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวไทย เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลให้กับผู้ส่งออกข้าวนำไปเป็นข้อมูลในการทำตลาด

“ปัจจุบัน ข้าวพื้นนิ่มเป็นที่นิยมมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่า ในอนาคตจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคข้าวเจ้าพื้นนิ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการซื้อและตลาดมีโอกาสขยายตัวได้สูง”

โดยกรมการค้าภายในร่วมกับศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคข้าว ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาตลาดข้าวไทยเพื่อการส่งออกในตลาดต่างประะเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยการส่งออกข้าวไทยต่อไปนี้จะไม่เน้นปริมาณ แต่จะเน้นคุณภาพข้าวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับข้าวไทยในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ กรมฯ ได้พยายามศึกษารูปแบบการทำตลาดข้าวของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการข้าว ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง การสร้างแบรนด์ การจัดทำบรรจุภัณฑ์

สำหรับตลาดข้าวหลัก ๆ ของไทย คือ ตะวันออกกลาง จีน แอฟริกา โดยเฉพาะตลาดจีน ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของไทย มีการส่งออกข้าวไปตลาดจีนกว่าล้านตัน ตลาดจีนแบ่งเป็น 2 ตลาด คือ ตลาดบนและตลาดล่าง โดยตลาดบนนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย แต่ที่ผ่านมา ตลาดข้าวไทยในจีนมีปัญหา คือ มีการนำข้าวจากประเทศอื่นมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย แล้วนำไปอ้างว่าเป็นข้าวไทย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับข้าวไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลไทยเองได้พยายามหารือร่วมกับรัฐบาลจีนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในขณะที่ ตลาดล่างของจีน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหญ่ของจีน นิยมบริโภคข้าวเก่า แต่ตลาดกลุ่มนี้ไทยมีคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินเดีย ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพข้าวให้เหนือกว่าคู่แข่ง

ส่วนตลาดข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้เวลานี้ ข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ 7,000-9,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 12,000-18,000 บาทต่อตัน และข้าวเหนียวที่ 10,000-12,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้นของข้าว

ที่มา…http://www.thansettakij.com/content/374434